วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552
Poiret: The King of Fashion
LIPS Report (Insight Special)
ปักษ์หลัง มิถุนายน 2550
เรื่อง art suchato
ภาพนิทรรศการ Jin Kay
ภาพประกอบจากหนังสือ Poiret
Paul Poiret: The King of Fashion
ถ้าเอ่ยชื่อ ‘ปอล ปัวเร่ต์’ (Paul Poiret) น้อยคนนักที่จะคุ้นหูหรือเคยได้ยินชื่อนี้ ถึงเเม้ปัวเร่ต์ถึงขั้นหาญกล้าขนานนามตัวเองว่าราชาเเห่งเเฟชั่น ในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘Paul Poiret: The King of Fashion’
สาเหตุจากในยุคที่รุ่งเรืองของเขานั้นเป็นช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ผ่านมาเนิ่นนาน ทําให้ผู้คนต่างพากันลืมเลือนในชื่อเสียงเเละผลงานของเขา เเม้ว่าปัวเร่ต์จะได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับวงการเเฟชั่นในช่วงนั้น อย่างการปลดเเอกเหล่าสตรีทั้งหลายจากเครื่องพันธนาการที่เเสนทรมานอย่าง Corsets ริเริ่มเเฟชั่นกางเกงสําหรับสุภาพสตรี การผลิตนํ้าหอมภายใต้ชื่อของตนเอง รวมทั้งการรับออกเเบบตกเเต่งภายใน
เเต่กลายเป็นว่าดีไซเนอร์รุ่นหลังเขาอย่าง Coco Chanel, Lanvin และ Balenciaga กลับเป็นที่รู้จักเเละกล่าวถึงมากกว่าทั้งในกลุ่มผู้เสพเเฟชั่นเป็นกิจวัตรอย่างดีไซเนอร์ เเฟชั่นกูรู เเละเหล่าเเฟชั่นนิสต้าทั้งหลาย หรือเเม้กระทั้งบุคคลคนทั่วไปที่ไม่ได้คลั่งไคลหลงใหลในเเฟชั่นมากมายนัก ก็ยังติดหูกับชื่อเหล่านี้ มากกว่าชื่อของราชาเเห่งโลกเเฟชั่น
ครั้งเเรกที่ได้ยินชื่อ ปอล ปัวเร่ต ก็จากการเข้าเรียนคลาส Fashion History กับโปรเฟสเซอร์ที่เหล่านักเรียนเเฟชั่นเเย่งกันลงเรียน เพราะได้ชื่อว่าสอนสนุก และวิชานี้มีเนื้อหามากมาย ถ้าคนสอนสอนไม่เก่งก็ชวนให้น่าเบื่อเป็นอย่างยิ่ง เเต่เนื้อหาที่โปรเฟสเซอร์ท่านนี้บรรยายเกี่ยวกับ ปอล ปัวเร่ต์ นั้นช่างน้อยนิดเมื่อเทียบกับดีไซเนอร์รุ่นหลังอย่าง โกโก้ ชาเนล ท่านบรรยายเพียงว่าเขาเป็นดีไซเนอร์ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยุคที่เรียกว่า Belle Époque หรือ Beautiful Era (ช่วงสมัยของประวัติศาสตร์ยุโรป เริ่มตอนปลายศตวรรษที่สิบเก้าจนถึง หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
ปัวเร่ต์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 1879 ณ กรุงปารีส ในครอบครัวค้าขายผ้า พ่อเเม่ของเขามีความชื่นชอบเเละหลงใหลในงานศิลปะเป็นอันมาก เเละยังได้ซื้องานศิลปะในหลายรูปแบบมาสะสมไว้ ทําให้ปัวเร่ต์ซึบซับความรักในด้านศิลปะตั้งเเต่เยาว์วัย จนเมื่อเติบใหญ่ ความรักทางด้านศิลปะของเขานั้นยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น โดยมุ่งเน้นไปในด้านเสื้อผ้าอาภรณ์ จากการที่เขามักเสพ เเมกกาซีนเเฟชั่น เเละเเคตตาล็อกเสื้อผ้าเป็นกิจวัตรโดยมิรู้เบื่อ
หลังจากจบการศึกษาปัวเร่ต์ในอายุ 18 ปี ถูกส่งเข้าทํางานในเเวดวงธุรกิจการผลิตร่มที่เขาเเสนจะชิงชัง ช่วงนั้นเองเขาได้ใช้เวลาว่างในการออกเเบบ เเละหัดตัดเย็บบนหุ่นลองเสื้อขนาดเล็ก ที่บรรดาพี่สาวทั้งสามมอบให้ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากงานที่น่าเบื่อหน่าย
จุดหักเหในชีวิตของ ปัวเร่ต์ เริ่มขึ้นเมื่อเพื่อนสนิทกระตุ้นให้เขาส่งผลงานที่เขาออกเเบบไปยังสํานักเสื้อต่างๆ ในกรุงปารีส เเละผลงานของเขาก็เตะตาห้องเสื้ออย่าง Raundinizt Soeurs หลังจากนั้นชื่อของปัวเร่ต์ เริ่มเป็นที่รู้จักในเหล่าสาวช่างเเต่งตัว เเละผลงานออกเเบบของเขานั้นก็เริ่มเป็นที่ต้องการของบรรดาห้องเสื้อใหญ่น้อยต่างๆ ในกรุงปารีส กระทั่งปี 1896 ปัวเร่ต์เข้าทํางานกับห้องเสื้อดัง Maison Doucet เล่ากันว่าพ่อเขาถึงขนาดไม่เชื่อว่าลูกชายของตนจะได้ทํางานกับห้องเสื้อดังขนาดนี้ ปัวเร่ต์ถึงกับต้องพาผู้เป็นพ่อไปถึงสตูดิโอของห้องเสื้อเพื่อยืนยัน
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาพอสมควรจากห้องเสื้อชื่อดังหลายแห่ง ปัวเร่ต์ตัดสินใจลาออก เเละเข้ารับราชการทหารเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อปลดประจําการเเล้วเขาได้กลับมายังกรุงปารีส โดยเข้าทํางานกับห้องเสื้อ อันหรูหรา Maison Worth ช่วงเวลานั้น ปอล ปัวเร่ต์ ได้สร้างสรรค์ผลงานที่วิจิตร พร้อมกับรายได้มหาศาลให้เเก่ห้องเสื้อเเห่งนี้ เเต่หลังจากมีความเห็นไม่ลงรอยกับเจ้าของห้องเสื้อดัง เขาจึงได้ตบเท้าลาออก พร้อมชื่อเสียงเเละประสบการณ์อันเเก่กล้า และพร้อมที่จะเปิดห้องเสื้อของตัวเอง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นตํานานของราชาเเห่งโลกเเฟชั่นอย่างเเท้จริง
ตั้งเเต่วันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 5 สิงหาคม ปีนี้ The Metropolitan Museum of Art (The Met) เเห่งมหานครนิวยอร์ก ได้จัดนิทรรศการพิเศษ ‘Poiret : The King of Fashion’ เพื่อเป็นการสดุดีชื่อเสียงเเละผลงานของปัวเร่ต์เป็นครั้งเเรกในรอบหลายทศวรรษ โดยได้รับการสนับสนุนจากห้องเสื้อบาลองเชียก้า
นิทรรศการนี้เกิดขึ้นเพราะ ในปี 2005 The Met ประมูลซื้อชุดจากคอลเล็กชั่นส่วนตัวจากทายาทปัวเร่ต์ จํานวนมากกว่า 20 ชุด และทั้งหมดเป็นชุดที่เขาออกเเบบเป็นพิเศษให้กับภรรยาของเขา ที่ถือว่าเป็น Muse ตลอดกาลของห้องเสื้อ หลังจากนั้นทาง The Met ใช้เวลาเตรียมงานอันยิ่งใหญ่นี้เป็นเวลาถึงสองปี
ก่อนที่จะเปิดให้เข้าชมงานเพียงสองวัน มีการจัดงานกาล่าดินเนอร์สุดหรูหราขึ้น และถือว่าเป็นปารตี้เเห่งปีของนิวยอร์ก ที่รวบรวมเหล่าเซเล่บคนสําคัญๆ ในหลายวงการ โดยเฉพาะวงการเเฟชั่น เเละวงการเเสดง มากันอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะเหล่าฮอลลีวู้ดดีว่า ที่ตบเท้าเรียงเเถวกันมาบนพรมแดงอย่างพร้อมเพรียง ที่สําคัญเเต่ละคนต่างเเต่งตัวมาประชันกันเต็มที่ อย่าง Cameron Diaz กับชุดสุดหรูจากฝีมือของ Galliano ขุนพลเเห่ง Dior เเละ Camilla Belle มาในชุดของ Gaultier หรือ Jennifer Garner ในชุดเเดงเเรงฤทธิ์ จาก Valentino และอีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Renee Zellweger พร้อมกับผมสั้นทรงใหม่ ในชุดสุดเนี้ยบของ Carolina Herrera ดังที่คาดไว้
งานนี้ได้ Francois-Henri Pinault เจ้าของกลุ่มPRR ผู้ครอบครองเเบรนด์หรูอย่าง Gucci, YSL และ Balenciaga มาเป็นประธาน ที่น่าสนใจไปกว่านั้น งานนี้มีเเม่งานใหญ่ยักษ์ อย่าง Anna Wintour แห่ง Vogue เเละ Nicolas Ghesquiere เเห่ง Balenciaga อีกทั้งดาราสาวสุดสวยอย่าง Cate Blanchett ยืนต้อนรับเหล่าบรรดาเซเล็บบนสุดปลายพรมเเดง
ในวันเเรกที่นิทรรศการนี้เปิดให้เข้าชม อากาศของมหานครเเฟชั่นเเห่งนี้ดูช่างเป็นใจ เพราะเป็นวันที่เเสงเเดดอบอุ่นฉาดฉายไปทั่วเมือง เหมือนเป็นการตอนรับการกลับมาของ ปอล ปัวเร่ต์ ราชาเเห่งโลกเเฟชั่นที่ถูกลืมเลือน วันนั้นผู้เขียนไปถึง The Met ประมาณบ่ายอ่อนๆ และเเม้ว่าจะเป็นวันธรรมดา ผู้คนที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เเห่งนี้ช่างมากมาย มีทั้งเหล่าชาวนิวยอร์กเกอร์เอง เเละบรรดานักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก
หลังจากจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าชมแล้ว จะได้รับเข็มกลัด และพร้อมที่จะเข้าสัมผัสผลงานสร้างสรรค์จากจินตนาการของ ปัวเร่ต์ เมื่อก้าวเข้าไปในตัวนิทรรศการสิ่งเเรกที่เห็นคือชื่องาน ‘Poiret : The King of Fashion’ บนผนังสีเขียวสด สมกับเป็นงานสดุดีดีไซเนอร์ผู้หลงใหลในสีสันสดใส ผนังด้านข้างมีประวัติ เเละผลงานอันโดดเด่นที่เเสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของเขา จากนั้นจึงเข้าไปสมทบกับผู้เข้าชมนิทรรศการคนอื่น เพื่อร่วมรับรู้ถึงประวัติความเป็นมาของดีไซเนอร์ผู้นี้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เห็นหลายคนคว้ากระดาษปากกาขึ้นมาจดอย่างขมักเขม่น
เมื่อเดินผ่านส่วนหน้างานเข้ามา จะพบกับผลงาน Illustrations มากมายจากฝีมือของ Paul Iribe เเละ Georges Lepape ที่ส่วนหนึ่งวาดขึ้นสําหรับทําเเคตตาล็อคไว้เเจกลูกค้ารายใหญ่ของห้องเสื้อเเห่งนี้ ติดเเสดงบนผนังทั้งสองข้าง โดยนางเเบบในเเต่ละภาพจะสวมเสื้อผ้า เเละเครื่องประดับของปัวเร่ต์ทั้งสิ้น
ในการชมนิทรรศการครั้งนี้ เหมือนกับการเดินทางย้อนเวลากลับไปที่จุดเริ่มต้นของ ปอล ปัวเร่ต์ กับห้องเสื้อของเขา เพราะภายในงานได้เรียบเรียงผลงานตั้งเเต่ช่วงปีเเรกจนถึงคอลเลกชั่นท้ายสุด ก่อนที่ห้องเสื้อของเขาจะปิดตัวลง ชุดเเรกที่ได้เห็นเป็นเสื้อโค็ตตัวยาวสีเเดง ออกเเบบให้กับ Jeanne Boivin ดาราชื่อดังของฝรั่งเศสสวมใส่ในปี 1905 ชุดนี้ได้เเสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัวเร่ต์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปะตะวันออก เพราะเสื้อโค้ตสุดสวยตัวนี้มีลายปักที่คล้ายกับลายของประตูจีน เเต่ที่น่าประทับใจคือฉากหลังที่สร้างบรรยากาศเหมือนกับยกเอาสวนสวยของพระราชวังต้องห้ามมาไว้ ณ ที่แห่งนี้
ภายในงานค่อนข้างมืด เพื่อที่จะเป็นการรักษาสภาพชุดอันลํ้าค่าเหล่านี้เอาไว้ เพราะเเสงสว่างจะทําลายสีเเละเนื้อผ้าได้ เนื่องจากเเต่ละชุดที่นํามาเเสดงนั้นมีอายุร่วมร้อยปี หลังจากเสพความงามจากชุดเเรกจนพอสมควร จึงเดินต่อมากระทั่งหยุดลงตรงหน้าจอวีดีโออนิเมชั่น ที่เเสดงการสร้างสรรค์เสื้อโค้ตราตรี โดยนําผ้าเพียงหนึ่งชิ้นมาบิด ทบ เเละเย็บ จนออกมาเป็นชุดสุดหรู เเสดงถึงความอัจฉริยะที่สามารถชดเชยจุดด้อยที่เขาไม่สามารถตัดเย็บได้นั่นเอง เมื่อฉายจบ ด้านหลังของจอก็สว่างขึ้น ทําให้มองเห็นเสื้อโค้ตของจริงอันน่าประทับใจ สมกับที่เหล่าบรรดาคุณป้า คุณย่าและคุณยายทั้งหลายที่ยืนรับชมกันอยู่นั้น พูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “Amazing” อย่างไม่ขาดปาก เลยเออออตามท่านเหล่านั้นที่เเต่งตัวกันสวยจัด จนสาวๆ อาย
ถัดมาอีกนิด จะเห็นชุดสวยเรียงรายจนลานตา พออ่านรายละเอียดจึงได้ทราบว่าเป็นชุดที่ปัวเร่ต์ออกเเบบเป็นพิเศษให้กับ Denise ผู้เป็นภรรยา เเละ Muse ของเขานั้นเอง ที่จัดแสดงอยู่ มีทั้งชุดกลางวันที่มีชื่อเเสนสวยอย่าง ‘La Perse’ เเละ ‘Le Rose d’Irube’ ตกเเต่งด้วยลวดลายดอกกุหลาบที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของปัวเร่ต์ เเละชุดราตรีรวมทั้งอีฟนิ่งโค้ต อย่าง ‘Bois de Boulogne’ ผู้เขียนเริ่มสังเกตว่าคอลเลคชั่นของปัวเร่ต์นั้น จะมี Silhouette ที่เหมาะกับคนผอมบาง เนื่องจากตัวเขาออกเเบบเสื้อผ้าโดยได้รับเเรงบันดาลใจจากภรรยาผู้เป็นสาวรูปร่างเเบบบางนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้เริ่มต้น Silhouette ที่เรียกว่า ‘Garcon Look’ (โครงร่างแบบเสื้อผ้าผู้ชาย) ก่อนที่ โกโก้ ชาเนล จะนำไปพัฒนาปรับปรุงจนเป็นเอกลักษณ์ของเธอ จากจุดนี้อาจกล่าวได้อีกเช่นกันว่า เป็นจุดกําเนิดของค่านิยม ‘ความผอม คือความงามของวงการเเฟชั่น’
ในส่วนจัดแสดงนี้ ยังได้เห็นผลงานของปัวเร่ต์ ที่เป็นการร่วมงานกับศิลปินอวองการ์ตในยุคนั้นอย่าง Raoul Dufy ผู้เข้ามารับหน้าที่ออกเเบบลายผ้า เเละได้สร้างสรรค์ลวดลายบรรเจิดมากมายให้กับห้องเสื้อเเห่งนี้ โดยเฉพาะลายดอกกุหลาบอันลื่อชื่อ ที่ต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ประจําของห้องเสื้อชั้นสูง (Maison de Couture) เเห่งนี้
เมื่อเดินพ้นจากมุมนั้น ก็ได้พบกับเสื้อผ้าในช่วงปีต่อมาของปัวเร่ต์ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงเเต่ต่างปี นำมาจัดวางได้อย่างน่าชม เเทบไม่น่าเชื่อว่าความต่างของบางชุดห่างกันเป็นทศวรรษ เเต่เข้ากันได้อย่างไม่มีที่ติ การเสพนิทรรศการในช่วงนี้เหมือนการเลื่อนไหลไปกับจินตนาการของดีไซเนอร์ภายใต้ตัวกําหนด ที่จัดเป็นธีมอย่าง ‘Classicism’ โชว์ชุดหรูเเสนโก้ ‘Orientalism’ นําเสนอชุดสุดวิจิตรจากอารยะธรรมตะวันออก หรือ ‘Historicism’ สร้างสรรค์จากความรู้ในอดีต เเละ ‘Modernism’ ที่สุดเเสนจะลํ้าสมัย ริดรอนการตกเเต่งอย่างฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์จากค่านิยมก่อนหน้านั้นออกไป
หลังจากนั้นก็เดินเสพความงามจากตู้เเสดงต่อๆไป ได้เห็นหลากชุดจากความคิดสุดลํ้าสมัยจากดีไซเนอร์ผู้นี้ เห็นหลายชุด ที่เเม้ตอนนี้เหล่าฮอลลีวู้ดดีว่าจะเลือกสรรเพื่อสวมเดินบนพรมแดงก็ยังดูสวยลํ้า อย่างชุดเทพธิดากรีก หรือ ชุดราตรีทรงเอ็มไพร์จากปี 1907 เเม้กระทั้งชุดกลางวัน ผ้าลินินสีขาว ในยุค 1910 ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นต้นเเบบให้กับ Shirtdress ที่ต้องใจสาวมาหลายยุค อีกทั้งชุดกลางคืนผ้าไหมสีส้มในปี 1920 ที่เชื่อแน่ว่าเหล่าสาวโบฮีเมียนเห็นคงจะกรี้ดกร้าดด้วยความอยากได้
เดินชมมาเรื่อย และได้สะดุดตากับชุดคอสตูมสุดบรรยาย ซึ่งเป็นผลงานที่ ปัวเร่ต์ ออกเเบบสําหรับงานปารตี้ ที่ยากจะลืมเลือนของชาวปารีสในยุดนั้น คืองาน ‘The Thousand and Second Night’ ที่จัดขึ้นเเละเชิญเเขกนับร้อยโดยมีข้อกําหนดให้เเขกทุกท่านต้องเเต่งตัวเข้ากับคอนเซ็ปต์ของงานที่ชวนฝันอย่าง อาหรับราตรี หากเหล่าเซเล็บคนใดไม่ได้เเต่งกายตามข้อกําหนด ก็ได้มีข้อเสนอ คือ ให้สวมชุดที่ปัวเร่ต์จัดเตรียมไว้ หรือไม่ก็ถูกขอให้ออกจากงานไป ชุดที่เเสดงเป็นชุดที่เขาออกเเบบให้กับภรรยาสุดรักสวมใส่ในงานเลี้ยงนี้ ประดับประดาด้วยเลื่อมเเละลูกปัดอย่างไม่ยั้งมือ
หลังจากดื่มดํ่าจินตนาการบนชิ้นผ้าของปัวเร่ต์มาพอสมควร จึงพิจารณาได้ว่ารูปแบบเสื้อผ้าของเขานั้น เเทบจะไม่มีความเปลี่ยนเเปลงมากนักในเเต่ละช่วงเวลา นอกจากเรื่องสีเเละลายผ้า สำหรับ Silhouette โดยรวมยังเป็นเเนว Boyish ที่ไม่ได้เน้นทรวดทรงองค์เอว เเต่ที่เห็นได้ชัดคือผลงานของเขานั้นตัดเย็บจากผ้าหรูราคาเเพง เเละใช้สีสันสดใสหลายเฉดสี และที่เห็นชัดไปกว่านั้นคือ เเรงบันดาลใจจากศิลปะตะวันออก ที่มีอิทธิพลอย่างมากกับผลงานของเขา ทั้งอารยะธรรมจีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง สมกับเป็นผู้ริเริ่มความคิดเเบบ East-meets-West ที่ต่อมาถือว่าเป็นเทรนด์สําคัญอย่างหนึ่งของโลกเเฟชั่น
พิจารณาตู้เเสดงถัดไป นอกจากจะเเสดงเสื้อผ้า เเล้วยังได้จัดเเสดงขวดนํ้าหอม เเละเฟอร์นิเจอร์ที่ออกเเบบได้งดงามสุดบรรยาย มากไปกว่านั้นคือ ฉากหลังที่ใช้ประกอบในเเต่ละตู้เเสดง ที่ช่วยสร้างบรรยากาศในการรับชมนิทรรศการอย่างยิ่ง เช่น ฉากภาพโคมไฟญี่ปุ่นที่ไปได้ดีกับเสื้อสวยทรงกิโมโน หรือ ฉากทะเลทราย ที่สอดคล้องกับเสื้อผ้าอิทธิพลตะวันออกไกล
ใกล้ถึงช่วงทางออกของงาน เห็นตู้เเสดงที่อัดเเน่นไปด้วยบรรดาเหล่าเครื่องประดับมากมาย เช่นเครื่องประดับผม รองเท้าปักเเน่นด้วยลูกปัด เเละถุงน่องไหมสีสันเเสบตา อีกทั้งพัดลายสวยจัด เเทบไม่น่าเชื่อว่าของเหล่านี้จะถูกประดิษฐ์มานานเกือบร้อยปี เพราะสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ เเทบไม่ได้ดูต่างจากของที่จัดแสดงตามห้างหรู หรือ บูติกเเสนเก๋บนถนนฟิฟธ์ หรือเมดิสัน เอวินิว ในเวลานี้เลย
ต่อจากตู้เเสดงเครื่องประดับ มีจอวีดีโอ อนิเมชั่น ที่เเสดงการกําเนิดของชุดราตรีเรียบหรู ภายใต้เเนวคิดอันเเยบยล เพียงตัดผืนผ้าสองชิ้นในเเบบเดียวกัน นํามาประกบต่อกันเเล้วเย็บ ก็สามารถสร้างสรรค์ชุดสวยสุดใจขึ้นมาได้
ในส่วนสุดท้ายของงานเป็นการเเสดงคอลเล็กชั่นท้ายสุดของปัวเร่ต์ ที่จับมาปะชันกับผลงานของคลื่นลูกใหม่ไฟเเรงในตอนนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากผู้หญิงที่ปฎิวัติการเเต่งตัวของสาวทั่วโลก อย่าง โกโก้ ชาเนล โดยชุดของปัวเร่ต์ที่โชว์อยู่นั้นมี Silhouette เดียวกันกับชุดดําเรียบโก้ ‘the Little Black Dress’ ของมาดมัวแซลสุดเก๋นั้นเอง ต่างกันตรงที่ปัวเร่ต์กระหนํ่าความหรูหราลงบนงานออกเเบบของเขาอย่างฟุ่มเฟื่อย เพราะเเต่ละชุดนั้นอาจจะเรียกได้ว่าถูกปกคลุมไปด้วยเลื่อมสีเงินและสีทองอย่างเกินความจําเป็น
ในทางกลับกัน เดรสดําตัวน้อยเเสนเรียบง่ายของชาเนล กับมีเสน่ห์ต้องตาต้องใจสาวๆ ยุคนั้นมากกว่า เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น ความเรียบง่ายกลายเป็นกระเเสสําคัญ เเต่กลับเป็นว่า ปัวเร่ต์ผู้ริเริ่มกะเเส โมเดิร์นนิสซึมส์ ที่เสพความเรียบง่ายของอาภรณ์นั้น กลับหันหลังให้ความคิดของตนเองอย่างสิ้นเชิง แล้วกลับไปสู่ความอลังการอย่างยุคก่อน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเสื่อมความนิยมในตัวปัวเร่ต์ เนื่องจากผลงานที่ออกมาในระยะหลังไม่โดนใจสาวสังคมในยุคนั้นอย่างจัง ผิดกับความเรียบโก้ของชาเนล
ด้วยเหตุนี้ยุคเสื่อมของปัวเร่ต์ กลับเป็นช่วงพีคสุดของชาเนล เหมือนพระเจ้าจะอวยชัยให้เธอ เพราะทุกสิ่งที่มาดมัวแซลออกเเบบมานั้น ช่างฮิตติดลมดังใจ สร้างความหมั่นไส้ให้กับผู้กุมบังเหียนวงการเเฟชั่นมานานอย่างปัวเร่ต์ ถึงกับมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ครั้งหนึ่งเมื่อราชาเเห่งโลกเเฟชั่นผู้นี้ บังเอิญมาพบกับสาวเก๋สุดมั่นอย่างโกโก้ ชาเนล ได้เกิดบทสนทนาอันเด็ดดวงและเป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ เมื่อเสือเฒ่าผู้ครํ่าหวอดในวงการมานาน เอ่ยปากถามสาวมั่นว่า “หล่อนอยู่ในช่วงไว้ทุกข์หรอกหรือ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่หล่อนออกเเบบมาช่างมืดดําขนาดนั้น” เจอประโยคคําถามเจ็บปวดขนาดนี้ สาวเก๋สุดโต่งจึงสวนกลับไปเเบบไม่ทิ้งลายว่า “ที่ดิชั้นไว้ทุกข์ก็คงจะไว้ทุกข์ให้กับความเสื่อมของมองซิเออร์นั้นกระไร” เสียงกะซิบจบลงเเค่นั้น เหตุการณ์ต่อจากนั้นคงมีเพียงราชาเเละราชินีเเห่งโลกเเฟชั่นที่ต่างล่วงลับไปแล้วเท่านั้นที่จะเล่าต่อได้
ก่อนจะเดินออกจากงานนี้ ได้หันไปกวาดตาดูรอบๆ อีกครั้ง เพื่อเก็บบรรยากาศที่เเสนประทับใจนี้ไว้ เพราะการเดินทางย้อนเวลากลับไปชื่มชมผลงานจากความคิดสุดบรรเจิดของปัวเร่ต์ได้ใกล้สิ้นสุดลงเเล้ว เเละหลังจากดื่มดํ่าความงามที่เหนือกาลเวลาจากชุดต่างๆที่ผ่านการออกเเบบมาหลายทศวรรษ ก็ต้องขอยอมรับว่า ปอล ปัวเร่ต์ นั้นสมกับที่เหล่าเเฟชั่นกูรูบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่า ‘Pre-Modernism’ เพื่อใช้เรียกขานผลงานสุดลํ้ายุคของเขาโดยเฉพาะนั่นเอง
ขณะที่จะก้าวพ้นจากงานนิทรรศการ ยังได้ยินเสียงเซ็งเเซ่ เอ่ยชมผลงานของเขาอย่างไม่สิ้นสุด ถึงตอนนี้คงไม่ติดใจสงสัยเเล้ว ว่า ทําไมดีไซเนอร์ผู้ที่เกือบจะถูกสังคมลืมเลือนผู้นี้ถึงกล้าเรียกขานตนเองว่าราชาเเห่งโลกเเฟชั่น ช่างสมกับชื่องานสุดประทับใจนี้จริงๆ ‘Poiret : The King of Fashion
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น